วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความสำคัญของการเรียนรู้

                        

              https://www.gotoknow.org/posts/39420 ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้ด้วยตนเอง มีแนวคิดพื้นฐานมาจากทฤษฎีกลุ่มมานุษยนิยม (Humanism) ซึ่งมีความเชื่อเรื่องความเป็นอิสระ และความเป็นตัวของตัวเองของมนุษย์ ดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความดี มีความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง สามารถหาทางเลือกของตนเอง มีศักยภาพและพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างไม่มีขีดจำกัด มีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อผู้อื่น  ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับนักจิตวิทยามานุษยนิยม (Humanistic Psychology) ที่ให้ควาสำคัญในฐานะที่ผู้เรียนเป็นปัจเจกบุคคล และมีแนวคิดว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ และมีความโน้มเอียงที่จะใส่ใจ ใฝ่รู้ ขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเอง มนุษย์สามารถรับผิดชอบพฤติกรรมของตนเองและถือว่าตนเองเป็นคนที่มีค่า

               http://www.novabizz.com/NovaAce/Learning/Learning_Process.htm ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ตลอดชีวิต คำจำกัดความที่นักจิตวิทยา มักจะกล่าวอ้างอยู่เสมอ แต่ยังไม่ถึงกับเป็น ที่ยอมรับ กันอย่างสากล คือ คำจำกัดความของ คิมเบิล (Gregory A Kimble) 
คิมเบิล กล่าวว่า "การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงศักยภาพแห่งพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวร ซึ่งเป็นผลมาจากการฝึกหรือการปฏิบัติที่ได้รับ การเสริมแรง (Learning as a relatively permanent change in behavioral potentiality that occurs as a result of reinforced practice) "
จากความหมายของการเรียนรู้ข้างต้นแยกกล่าวเป็นประเด็นสำคัญได้ ๕ ประการ คือ 
๑ การที่กำหนดว่า การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก็แสดงว่าผลที่เกิดจากการเรียนรู้ จะต้องอยู่ใน รูปของพฤติกรรม ที่สังเกตได้ หลังจากเกิดการเรียนรู้แล้ว ผู้เรียนสามารถทำสิ่งหรือเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อนการเรียนรู้นั้น
๒ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้น ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถาวร นั่นก็คือ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้น จะไม่เป็นพฤติกรรมในช่วงสั้น หรือเพียงชั่วครู่ และในขณะเดียวกันก็ ไม่ใช่พฤติกรรมที่คงที่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป
๓ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปอย่างทันทีทันใด แต่มันอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงศักยภาพ (Potential) ที่จะกระทำ สิ่งต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต การเปลี่ยนแปลง ศักยภาพนี้อาจแฝงอยู่ในตัวผู้เรียน ซึ่งอาจจะยังไม่ได้แสดงออกมา เป็นพฤติกรรมอย่าง ทันทีทันใดก็ได้
๔ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงศักยภาพในตัวผู้เรียนนั้นจะเป็นผลมาจากประสบการณ์หรือการฝึกเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือศักยภาพอันเนื่องมาจากสาเหตุอื่นไม่ถือเป็นการเรียนรู้
๕ ประสบการณ์หรือการฝึกต้องเป็นการฝึกหรือปฏิบัติที่ได้รับการเสริมแรง (Reinforced practice) หมายความว่า เพียงแต่ผู้เรียนได้ รับรางวัลหลังจากที่ตอบสนอง ก็จะให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นในแง่นี้คำว่า "รางวัล" กับ "ตัวเสริมแรง" (Reinforce) จะให้ความหมายเดียวกัน ต่างก็คือหมายถึงอะไรบางอย่างที่อินทรีย์ (บุคคล) ต้องการ 
                http://www.kroobannok.com/blog/45566 ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้ไว้ว่า หลักการสำคัญของการเรียนรู้นั่นเอง ซึ่งหลักการนั้นมีอยู่ 4 ประการดังต่อไปนี้
1. ผู้เรียนควรจะมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างจริงจัง (Active Participation) หมายความว่า เมื่อครูสอนนักเรียนก็จะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมการสอนของครูทั้งกายและใจ นักเรียนที่นั่งเหม่อลอยหรือนั่งหลับในขณะที่ครูสอนถือว่าไม่มีส่วนร่วมมากนัก นักเรียนที่ไม่ยอมคิดเมื่อครูถามคำถามก็ถือว่า ไม่มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน นักเรียนที่ลอกการบ้านเพื่อนแทนที่จะทำเอง ถือว่ามีส่วนร่วมเหมือนกันแต่ไม่เข้าขั้น active นักเรียนที่เข้าห้องปฏิบัติการแต่ไม่ยอมทำอะไรเองคอยอาศัยแต่เพื่อน ก็ถือว่าไม่มีส่วนร่วมอย่างจริงจังเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เองผู้หลักผู้ใหญ่สมัยก่อนเขาจึงสอนเด็ก ๆ ว่า “จะต้องเป็นคนเอาตาดู เอาหูฟัง และเอาใจใส่” กับเรื่องรอบ ๆ ตัว จึงจะเฉลียวฉลาดทันคน
เพราะฉะนั้นคำถามสำหรับคนเป็นครูในหลักการข้อนี้ ก็คือ
- ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนเข้าเรียนโดยเอาตาดู เอาหูฟัง และเอาใจใส่
- ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนเข้าห้องปฏิบัติการและลงมือทำการทดลองด้วยตนเอง
ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนคิดเมื่อครูถามคำถาม
ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนทำการบ้านด้วยตนเอง
ฯลฯ
ครูจำนวนไม่น้อยที่ชอบคิดว่าพฤติกรรมการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังนี้เป็นหน้าที่ของผู้เรียนโดยตรง เพราะครูมีหน้าที่สอนเท่านั้น เข้าทำนองที่ว่า “นี่คือเรื่องของเธอ” “เรื่องของฉันคือสอน เรื่องของเธอคือเรียน” แท้ที่จริงแล้ว ส่วนหนึ่งของการสอนก็คือการทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังนั่นเอง
2. ผู้เรียนควรจะได้เรียนรู้ทีละขั้นทีละตอนจากง่ายไปสู่ยากและจากไม่ซับซ้อนไปสู่รูปที่ซับซ้อน (Gradual approximation) ตัวอย่างเช่น เด็ก ๆ ต้องบวกลบเลขเป็นเสียก่อนจึงจะสามารถเรียนรู้การคูณและการหาร คนเราต้องพูดเป็นคำ ๆ ได้เสียก่อนจึงจะสามารถพูดเป็นประโยคได้ หรือต้องเดินให้ได้เสียก่อน แล้วจึงวิ่งค่อยเหยาะ ๆ จากนั้นจึงวิ่งเร็ว ๆ เช่นนี้เป็นต้น ครูที่หวังจะสอนนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้จึงต้อง รู้จักแบ่งเนื้อหา และจัดลำดับเนื้อหาตามความยากง่าย แล้วจึงนำมาสอนทีละขั้นทีละตอนอย่างเหมาะสม
ขอให้สังเกตภาพต่อไปนี้
ทั้งสามภาพนี้คือบันไดที่สร้างความรู้สึกแตกต่างกันให้แก่ผู้ที่จะต้องปีน
ภาพที่ 1 เป็นบันไดที่ผู้ปีนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายมากเพราะปีนตั้งนานก็ไม่ไปถึงไหน
ภาพที่ 2 เป็นบันไดที่ผู้ปีนเกิดความรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงมาก เพราะมันยากมากที่จะปีน ขึ้นไปได้
ภาพที่ 3 เป็นบันไดที่ผู้ปีนสบายใจ เพราะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ จึงเกิดความมั่นใจที่จะปีน
การจัดลำดับความยากง่ายของเนื้อหาก็ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมในทำนองนี้เช่นกัน
3. หลักการที่สามคือ ให้นักเรียนได้รับข้อมูลย้อนกลับที่เหมาะสมและไม่เนิ่นนานจนเกินไป (Immediate feedback) เมื่อนักเรียนได้ทำกิจกรรมตามคำแนะนำหรือคำสั่งของครูไป แล้วเขาก็มักอยากจะ รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้าเขาได้รับข้อมูลย้อนกลับทันการและเหมาะสมเขาก็จะเกิดการเรียนรู้ ที่ดีรวมทั้งเกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ต่อไป แต่ถ้าเขาไม่ได้รับข้อมูลย้อนกลับหรือต้องคอยเป็นเวลานานจึงจะได้รับเขาจะเกิดการเรียนรู้น้อย และในขณะเดียวกันความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ก็จะมีไม่มาก เพราะฉะนั้นครูจึงควรตระหนักในสิ่งต่อไปนี้
เมื่อเด็กตอบคำถามเขาจะต้องได้รับการบอกกล่าวว่าคำตอบของเขานั้นถูกหรือผิดประการใด
เมื่อเด็กการบ้านมาส่ง ครูต้องตรวจ และให้คำแนะนำให้เร็วที่สุด เท่าที่จะเร็วได้
เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมในการเรียนรู้ภาคปฏิบัติทักษะ ครูต้องคอยดูและคอยบอกว่าเขาปฏิบัติได้ถูกต้องแล้วหรือยัง
และสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งที่การให้ข้อมูลย้อนกลับก็คือนอกจากจะต้องไม่ปล่อยให้เนิ่นนานเกินไปแล้ว ครูต้องบอกเขาด้วยว่าสิ่งที่เขาทำนั้น “ถูกต้องอย่างไร” และ “ยังไม่ถูกต้องอย่างไร” ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่าถูกหรือผิดเท่านั้น นอกจากนั้น วิธีบอกหรือ Approach ของครูก็ควรจะไม่ทำลายความรู้สึกดี ๆ ของเด็กด้วย เช่น การที่จะบอกว่าคำตอบของเด็กไม่ถูกต้อง อาจจะมีได้หลายวิธี เช่น
พูดด้วยหน้าตาบึ้งตึง น้ำเสียงกราดเกรี้ยวว่า “ผิดใช้ไม่ได้”
พูดด้วยหน้าตาราบเรียบ เฉยเมยว่า “ผิด”
เขียนด้วยเครื่องหมายกากบาทขนาดมหึมาด้วยปากกาสีแดง
ไม่เขียนเครื่องหมายผิดแต่เขียนคำอธิบายว่ามันยังไม่ถูกต้องอย่างไรด้วยปากกาหมึกแดงหรือสะท้อนแสง
พูดยิ้ม ๆ ด้วยน้ำเสียงแฝงความเมตตาว่า “เกือบใช้ได้แล้ว เพียงแต่เธอลืมหรือสะเพร่าไปนิดเดียวเอง คราวหน้าต้องรอบคอบหน่อยนะ”
ฯลฯ
ครูที่ปรารถนาจะให้กำลังใจเด็กเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ก็สามารถเลือกวิธีการให้เหมาะกับอุปนิสัยของเด็กได้ โปรดอย่าลืมว่า
การให้ข้อมูลย้อนกลับเชิงบวก ดีที่สุด
การให้ข้อมูลย้อนกลับเชิงลบ ไม่ค่อยดีนักในแง่จิตวิทยาแต่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้
การไม่ให้ข้อมูลย้อนกลับใด ๆ แย่ที่สุด เพราะไม่ช่วยอะไรผู้เรียนเลย
4. หลักการข้อที่สี่ การเสริมแรงหรือให้กำลังใจที่เหมาะสม (Appropriate Reinforcement)
ผู้เรียนทุกคนไม่ว่าอายุมากหรืออายุน้อย ไม่ว่าหญิงหรือชาย ล้วนต้องการกำลังใจหรือการเสริมแรงเพื่อให้ฟันฝ่าอุปสรรค แสวงหาความรู้ต่อไป ซึ่งการให้กำลังใจของครูอาจจะกระทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น
เมื่อเด็กพยายามจะเล่าถึงความสำเร็จในการเรียนรู้ของเราเองให้ครูฟัง ครูก็ควรต้องมีเวลาฟัง
เมื่อเด็กมีคำถามและนำมาปรึกษา ครูก็ให้คำปรึกษาด้วยความเต็มใจ
เมื่อเด็กทำงานถูกต้องตามที่ควรจะเป็น ครูก็ชมเชย
เมื่อเด็กมีผลงานอยู่ในระดับดีมาก สามารถเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นได้ ครูก็ยกย่องให้ปรากฏ
เมื่อเด็กมีผลงานที่ถูกต้อง แม้ไม่สมบูรณ์แบบ ครูก็ชมเชยในส่วนที่ถูกและชี้แนะในสิ่งที่ผิด
ฯลฯ
การเสริมแรงหรือการให้กำลังใจที่ดีจะต้องมีความพอเหมาะพอสมกับผลงาน คือ ไม่ชมเชยจนเกินความเป็นจริง เพราะจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ แต่ก็ต้องไม่น้อยจนเกินไป เช่น สำหรับเด็ก นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่มีผลการเรียนเฉลี่ย 3.39 อาจารย์ที่ปรึกษาก็น่าจะพูดชมเชยด้วย เพราะการยิ้ม ๆ อย่างเดียวก็น่าจะน้อยเกินไป แต่สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาอาจจะไม่ต้องพูดชมเชยด้วยก็ได้เพราะเขาโตแล้ว
หลักการที่สำคัญในการเรียนรู้ทั้งสี่ประการที่ได้กล่าวมานี้เป็นหลักการเรียนรู้ทั่วไป ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้ได้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ไม่เลือกเพศ ไม่เลือกวัย จะนำไปใช้กับเด็กเล็ก ๆ 4-5 ขวบ หรือจะนำไปใช้กับนักศึกษาปริญญาเอกอายุ 30-40 ปี ก็ย่อมได้เสมอ หลักการนี้เป็นหลักการที่มีการใช้มาและประสบความสำเร็จตั้งแต่สมัยพุทธกาล จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นหากท่านจะทดลองนำไปใช้ดูบ้าง ก็น่าจะประสบผลสำเร็จได้โดยง่ายเช่นกัน

สรุป
                หลักการสำคัญของการเรียนรู้ คือ ผู้เรียนมีส่วนร่วม ควรเรียนรู้ไปทีละขั้นตอน เริ่มจากง่ายไปหายาก และการเรียนรู้ คือ การเปลี่ยนแปลงศักยภาพแห่งพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวร ซึ่งเป็นผลมาจากการนึกหรือการปฏิบัติที่ได้รับการเสริมแรง ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่นักจิตวิทยาได้กล่าวถึงและยอมรับกันอย่างสากล ส่วนการเรียนรู้ด้วยตนเองมีแนวคิดพื้นฐานมาจากทฤษฎีมานุษยนิยม ที่ให้ความสำคัญ และให้แนวคิดแก่ผู้เรียนว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพและมีความใส่ใจ ใฝ่รู้ ขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถรับผิดชอบพฤติกรรมของตนเองและถือว่าตนเองเป็นคนมีค่า 
ที่มา
ครูบ้านนอกBlog.[online].http://www.kroobannok.com/blog/45566.4หลักการสำคัญของการเรียนรู้.เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 58 .
GotoKnow.[online].https://www.gotoknow.org/posts/39420.การเรียนรู้ด้วยตนเอง.เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 58 .
NovaBizz.[online].http://www.novabizz.com/NovaAce/Learning/Learning_Process.htm.กระบวนการเรียนรู้.เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 58 .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น